ประเภท





ประเภทของหลักสูตร
       หลักสูตรอาจจำแนกได้หลายประเภท  โดยอาศัยเกณฑ์ที่แตกต่างกัน  ตามที่  ดุษฎี  (2537ป  ได้กล่าวถึง  ลักษณะของหลักสูตร  ไว้ดังนี้
1.      กลุ่มที่จำแนกตามหมวดหมู่เนื้อหาสาระ  กลุ่มนี้แยกหลักสูตรออกเป็น  5  ประเภท  ปรากฏในเอกสารตำราสาขาวิชาหลักสูตรทั่วไป  ดังนี้
      1.1   หลักสูตรรายวิชา (discrete-discipline  curriculum,  subject  matter,  curriculum,separate-subject  curriculum)  หลักสูตรประเภทนี้จัดประสบการณ์ส่วนใหญ่เรียงลำดับความยากง่ายเป็นรายวิชาย่อยๆ แยกต่างหากจากกัน
       1.2   หลักสูตรสัมพันธ์วิชา  (correlate  curriculum)  หลักสูตรประเภทนี้  จัดประสบการณ์เป็นกลุ่มเล็กๆ  โดยจัดรายวิชาย่อยที่มีความสัมพันธ์กันเข้าไว้ด้วยกัน  แต่ยังคงความเป็นรายวิชาย่อยอยู่
       1.3    หลักสูตรหมวดวิชา  (broad-fields  curriculum,  fused  curriculum) หลักสูตรประเภทนี้คล้ายหลักสูตรสัมพันธ์วิชา  แต่จัดรายวิชาที่คิดว่าเป็นจำพวกเดียวกันเข้าไว้ด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น
        1.4    หลักสูตรแกน  (core  curriculum)  หลักสูตรประเภทนี้ยกสาระจำนวนหนึ่งในหลักสูตรนั้นขึ้นเป็นแกนในขณะที่สาระอื่นเป็นส่วนประกอบ
        1.5    หลักสูตรบูรณาการ  (integrated  curriculum)  หลักสูตรประเภทนี้รวมประสบการณ์ทุกสาระวิชามาสัมพันธ์กันจนไม่ปรากฏเด่นชัดว่าเป็นวิชาใด  จัดเป็นประสบการณ์ต่อเนื่อง  หลักสูตรเช่นนี้อาจอาศัยประเด็นหรือปัญหาบางอย่างเป็นแกน  แล้วหลอมทุกสาระวิชาที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกัน
       การจัดหมวดหมู่นี้เนื้อหาสาระในหลักสูตรเช่นนี้  คลี่คลายตามมวลความรู้ที่มนุษย์มีอยู่ในช่วงที่มีมวลความรู้น้อย  การจัดประสบการณ์เป็นรายวิชาย่อยๆ  ช่วยให้มนุษย์ได้เรียนรู้อย่างละเอียด  ครั้นวิชาต่างๆ  สะสมมวลความรู้และแยกวิชาออกไปมาก  ซึงเท่ากับแยกมวลความรู้ในชีวิตมนุษย์ให้ลึกลงไปในแต่ละส่วนเสี้ยว  ดังนั้น  ในระยะเวลาอันจำกัดของหลักสูตรหนึ่งๆ  จึงต้องหลอมรายวิชาย่อยๆ  ให้เป็นกลุ่ม  เป็นหมวด  เป็นหน่วย  ทั้งนี้เพื่อสำเร็จประโยชน์ตามความมุ่งหมายของหลักสูตร  คือ  มนุษย์ได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตทุกส่วน
2.      กลุ่มที่จำแนกตามบทบาทของผู้สอนและผู้เรียน  กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับกระบวนการการเรียนการสอนแทนที่จะพิจารณาการจัดเนื้อหาสาระดังการจำแนกในกลุ่มที่ 1 การจำแนกตามเกณฑ์นี้แบ่งออกเป็น  2  ประเภท  ดังนี้
     2.1   หลักสูตรเน้นสาระวิชา  (subject-centered  curriculum)  หลัดสูตรประเภทนี้เน้นบทบาทของผู้สอนในการถ่ายทอดสาระวิชา  อาจกล่าวได้ว่าความเชื่อที่แฝงอยู่ในการจัดหลักสูตรประเภทนี้  คือ  หากการสอนมีประสิทธิภาพผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้
     2.2  หลักสูตรที่เน้นผู้เรียน  (child-centered  curriculum)  หลักสูตรประเภทนี้เน้นบทบาทของผู้เรียน  อาจกล่าวได้ว่าความเชื่อแฝงอยู่ในการจัดหลักสูตรประเภทนี้คือผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเรียนอย่างมีส่วนร่วม  ลงมือทำเอง  เข้าหลัก learning  by  doing
หากเปรียบเทียบการจัดประเภทหลักสูตรตามแนวนี้กับแนวที่  1  อาจกล่าวได้ว่าหลักสูตรที่เน้นสาระวิชา  น่าจะมีการเรียบเรียงเนื้อหาสาระเป็นรายวิชา  ในขณะที่หลักสูตรที่เน้นผู้เรียนน่าจะจัดมวลประสบการณ์ในลักษณะบูรณาการหรือสหวิทยาการ  (interdisciplinary  curriculum)
3.      กลุ่มที่จำแนกประสบการณ์ที่ยึด  กลุ่มนี้แยกกลักสูตรออกเป็น  3  ประเภท  ดังนี้
     3.1 หลักสูตรเน้นกระบวนการทางสังคมและการดำเนินชีวิต  (curriculum  base  on  social  process  and  life  function)  อาจกล่าวได้ว่า  หลักสูตรประเภทนี้เป็นหลักสูตรบูรณาการสาระโดยยึดสภาพการณ์ที่ผู้เรียนเผชิญอยู่  สภาพการณ์ที่ว่านี้  ได้แก่การดำรงชีวิตโดยส่วนตัว  การดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อม  โดยสิ่งแวดล้อมที่ว่านี้แยกเป็น  ส่วนที่เป็นสังคม  และส่วนที่ไม่ใช่สังคม
    3.2 หลักสูตรที่เน้นกิจกรรมและประสบการณ์  (the  activity  and  experience  curriculum)  หลักสูตรประเภทนี้เป็นหลักสูตรบูรณาการสาระ  เช่นเดียวกับหลักสูตรเน้นกระบวนการทางสังคมและการดำรงชีวิต  แต่เน้นให้เรียนได้ทำกิจกรรม  และมีประสบการณ์ด้วยตนเอง
     3.3 หลักสูตรเอกัตภาพ  (individualized  curriculum,  the  personalized  curriculum)  หลักสูตรประเภทนี้ก็เป็นหลักสูตรบูรณาการสาระอีกประเภทหนึ่ง  แต่เป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับการเรียนเป็นรายบุคคล  เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองอย่างเป็นอิสระจากคนอื่น
หลักสูตรประเภทนี้ผู้สอนจะเป็นผู้จัดประสบการณ์แก่ผู้เรียนตามลำพัง  หรือร่วมกันจัดกับผู้เรียนก็ได้
         หากเปรียบเทียบการจัดประเภทของหลักสูตรตามแนวนี้กับสองแนวแรก  อาจกล่าวได้ว่าการจำแนกตามสองแนวแรก  มีลักษณะใกล้เคียงกันมากกว่า  ในขณะที่การจำแนกตามเกณฑ์ที่สามนี้คล้ายกับเป็นการจำแนกหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนตามแนวที่สองออกไปอีก  สุดแต่ว่ามองมิติใดของผู้เรียนเป็นหลัก
          สรุปว่าหลักสูตรมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการแบ่ง  ซึ่งหลักสูตรประเภทต่างๆมีลักษณะข้อดีและข้อจำกัดภายในตัวเอง  ดังนั้นนักพัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานต่างๆ  ก่อนเลือกประเภทและพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมต่างๆ  เพื่อจะส่งผลให้หลักสูตรนั้นมีคุณค่า  ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ต่อไป